ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31
เนื่องจากสภาพพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เป็นภูเขาสลับซับซ้อนทุรกันดารมีเนื้อที่ ๓,๓๖๑.๑๕๑ ตารางกิโลเมตร มีประชากร ๖๘,๑๘๕ คน มีหย่อมบ้าน ๒๑๕ หย่อมบ้าน ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๑๑๗ กิโลเมตร (เส้นทางสายดอยอินทนนท์) และประมาณ ๑๕๖ กิโลเมตร (เส้นทางสายฮอด) ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา เผ่า กะเหรี่ยง ม้ง ลั๊วะ และ ลีซอ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวน ปลูกข้าวไร่ และรับจ้าง การคมนาคมไม่สะดวก บางหย่อมบ้านห่างจากหมู่บ้านหลักมากต้องเดินทางด้วยเท้าใช้เวลาประมาณ ๒-๓ วัน เนื่องจากหย่อมบ้านอยู่อย่างกระจัดกระจายห่างไกลกันมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา (ภาคบังคับ) ถึง ๑๔๑ หย่อมบ้าน อายุระหว่าง ๖-๑๓ ปี จำนวน ๓,๗๐๙ คน
จากสภาพปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ทำให้ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึงมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เรียนหนังสืออยู่ในพื้นที่ และพยายามดิ้นรนหาทางไปเรียนหนังสือที่อื่น ทำให้เกิดปัญหาถูกหลอกลวง ถูกกดขี่ใช้แรงงานเด็ก เป็นเด็กเร่ร่อน เด็กยากจนขาดผู้อุปการะ จึงควรให้ความสงเคราะห์ ช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาดังกล่าว ทางคณะกรรมการทางการศึกษา การศาสนา และการวัฒนาธรรม (ศศว.อ.) อำเภอแม่แจ่ม โดยสำนักงานศึกษาธิการอำเภอแม่แจ่ม ได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุ-เคราะห์ ประเภทประจำขึ้น และได้เสนอโครงการดังกล่าวไปยังกองราชเลขานุการในองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ฝ่ายการศึกษา) ได้รับคำแนะนำให้เสนอเรื่องขอเปิดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โดยผ่านทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๙ รองเลขาธิการพระราชวัง โดยนาย ขวัญแก้ว วัชโรทัย และคณะได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่ ที่จะจัดตั้ง ณ โรงเรียนบ้านป่าเท้อ ผลการสำรวจปรากฏว่า สถานที่ไม่เหมาะสม เพราะขาดแหล่งน้ำ จึงได้เสนอให้ทางอำเภอจัดหาสถานที่ตั้งใหม่ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๐ นายสุขวิช รังสิตพล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นายโชดก วีรธรรมพูลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุ-เคราะห์ฯ ได้เดินทางมาตรวจดูสภาพพื้นที่ ที่จะก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนายอำเภอแม่แจ่ม (นายขวัญชัย วงศ์นิติกร) ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้บรรยายเกี่ยวกับข้อมูลที่จะก่อสร้าง ๔ แห่ง และผลจากการสำรวจได้กำหนดที่ตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๑ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านแม่ปาน หมู่ที่ ๑๐ ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน ๒๒๖ ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ประมาณ ๘ กิโลเมตร มีพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันพุธ ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๐ เวลา ๑๐.๔๙ น. โดยนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นประธานในพิธี
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ ๓๐ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๑ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อรับเด็กด้อยโอกาสที่มีความเป็นอยู่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ได้แก่เด็กยากจนมากเป็นพิเศษ (ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อปี) เด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กถูกทำร้ายทารุณ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ เด็กเร่ร่อน แรงงานเด็ก เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฯลฯ ในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภออมก๋อย และอำเภอดอยหล่อ
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๑ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานศึกษาประเภทอยู่ประจำ เริ่มรับนักเรียนในปีการศึกษา ๒๕๔๑ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๗๐ คน ฝากเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๖ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๘๐ คน ฝากเรียนที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่
ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์๓๑ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานภายใต้การประสานงานระหว่างมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการเปิดรับนักเรียนด้อยโอกาสทางการศึกษา ประเภทเด็กยากจนมากเป็นพิเศษ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสถานศึกษา เด็กกำพร้าบิดา มารดา เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู เข้ามาอยู่ประจำในโรงเรียน จัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน ปีการศึกษา ๒๕๖๑ มีห้องเรียนตามแผนการรับนักเรียนคือ ๑-๑-๑-๑-๑-๑/ ๔-๔-๔/๔-๔-๔ รวมจำนวน ๓๐ ห้องเรียน มีนักเรียน จำนวน ๗๘๗ คน